สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3930/2562

การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติแต่เพียงให้นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติใดกำหนดห้ามมิให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องถอนข้อเรียกร้องเดิมและแจ้งข้อเรียกร้องใหม่ก่อนระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมสิ้นสุดลง ทั้งมิได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อยกเลิกสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการตามสภาพการจ้างและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมทั้งหมดแต่อย่างใด การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 แล้วถอนข้อเรียกร้องเดิมและยื่นข้อเรียกร้องใหม่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างเคยตกลงร่วมกันและถือปฏิบัติมาก่อนหน้าที่จะมีการยื่นข้อเรียกร้องนี้ทั้งหมดก็เนื่องจากจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ส. ซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่ากึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมด จำเลยจึงต้องการให้ลูกจ้างทั้งหมดมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นอย่างเดียวกัน เป็นเหตุให้จำเลยถอนข้อเรียกร้องเดิมแล้วแจ้งข้อเรียกร้องใหม่แก่สหภาพแรงงานโจทก์ ทั้งจำเลยยังแจ้งข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกับสหภาพแรงงานโจทก์แก่ลูกจ้างอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

การที่จำเลยใช้สิทธิปิดงานแล้วนำบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ถูกปิดงานจะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 22 วรรคสาม ที่บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะปิดงานได้ในกรณีที่ข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และมาตรา 5 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ปิดงาน" หมายความว่า การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ดังนั้น การที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม จึงเป็นการที่นายจ้างมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเข้าทำงานชั่วคราว เพื่อกดดันให้ลูกจ้างเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง ซึ่งการที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานในกรณีเช่นนี้ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ด้วยว่าห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน แต่การที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานแล้วจะให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่ถูกปิดงานจักต้องกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ด้วย กล่าวคือ นายจ้างต้องมีความจำเป็นเพื่อให้กิจการของนายจ้างดำเนินต่อไปได้ และต้องเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นทำงานอันมีลักษณะเป็นการชั่วคราวตามความจำเป็นข้างต้น ทั้งมิใช่กรณีที่นายจ้างอาศัยสิทธิปิดงานโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานตลอดไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง แต่เมื่อจำเลยใช้สิทธิปิดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และลูกจ้างที่ถูกปิดงานรวม 44 คน ทำงานในฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพและฝ่ายคลังสินค้าอันเป็นงานที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อองค์กรจำเลย เพื่อให้กิจการจำเลยดำเนินการต่อไปได้โดยไม่กระทบต่อการบริหารจัดการองค์กรจำเลยระหว่างปิดงาน จำเลยย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาบุคคลอื่นเข้ามาทำงานในส่วนงานของลูกจ้างที่ถูกปิดงานชั่วคราวได้ และเมื่อจำเลยมีการจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้าทำงานในกิจการของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว และนับแต่ปิดงานจำเลยจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเข้าทำงานประมาณ 160 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีการจ้างงานอย่างถาวรแทนที่ตำแหน่งลูกจ้างที่ถูกปิดงาน เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือการใช้สิทธิปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การพิจารณาว่าสิทธิในการปิดงานของจำเลยสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จากบันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ครั้งที่ 4/2556 ได้ความว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 สหภาพแรงงานโจทก์ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายจำเลยโดยยินยอมทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อตกลงฯ ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 แต่ไม่ยอมรับเงื่อนไข 17 ข้อ ตามที่จำเลยเสนอ จำเลยจึงไม่ตกลงยินยอมด้วย แล้วพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยระหว่างสหภาพแรงงานโจทก์กับจำเลยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 การไกล่เกลี่ยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ย่อมไม่ใช่กรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันได้อันจะทำให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระงับสิ้นไปและจำเลยไม่มีสิทธิจะปิดงานต่อไปได้อีก ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง

ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2560

โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ผู้ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ดังนั้นเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสี่ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลเป็นพับ แต่มิได้พิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อุทธรณ์ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2560

การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัท ด. จ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่พนักงานของรัฐ บริษัท ด. เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีไปให้นักการเมืองได้โดยตรง จึงทำสัญญาจ้างบริษัท ย. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการเพื่ออำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวและโจทก์ยอมนำเงินตามเช็คของบริษัท ย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัท ด. จ่ายให้เข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม)